ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ครั้งที่ 1-2565

ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ครั้งที่ 1-2565

มาตรการกำหนดให้ติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย คุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป ระดับเสียง จำนวน 6 สถานี ปีละ 2 ครั้ง การติดตามคุณภาพน้ำทิ้ง ติดตามตรวจสอบทุกๆเดือนใน 6 เดือนแรกของการเปิดดำเนินการ และหลังจากนั้นติดตามตรวจสอบทุกๆ 4 เดือน การติดตามตรวจสอบสาธารณสุข อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ปีละ 1 ครั้ง โดยในช่วงมกราคม-มิถุนายน พ.ศ. 2565 ทางโครงการได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของรายงานฯ ที่ได้กำหนดไว้

การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ

ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ฝุ่นละอองรวม ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ปี พ.ศ. 2565 พบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศทั้งหมด มีค่าอยู่ในมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2538) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป มาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2547) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป และมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2552) เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยทั่วไป

การติดตามตรวจสอบระดับเสียงโดยทั่วไป

ผลการติดตามตรวจสอบระดับเสียงทั่วไป ได้แก่ ระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ระดับเสียงเปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 ระดับเสียงเฉลี่ยกลางวัน-กลางคืน และระดับเสียงสูงสุด ระหว่างปี พ.ศ. 2560-2565 และระดับเสียงเฉลี่ย 1 ชั่วโมง ปี พ.ศ. 2565 พบว่า ระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2540) เรื่อง กำหนดมาตรฐานระดับเสียงโดยทั่วไป ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2540 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 27 ง วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้ระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าได้ไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ และระดับเสียงสูงสุดมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานระดับเสียงโดยทั่วไป ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2540) ที่กำหนดให้ระดับเสียงสูงสุด มีค่าได้ไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ สำหรับระดับเสียงเฉลี่ย 1 ชั่วโมง ระดับเสียงเปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 และระดับเสียงเฉลี่ยกลางวัน-กลางคืน ยังไม่มีมาตรฐานกำหนด

การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้ง

ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้ง ได้แก่ อุณหภูมิ ความเป็นกรด-ด่าง บีโอดี ซัลไฟด์ ทีเคเอ็น ปริมาณสารแขวนลอย ปริมาณของแข็งละลายทั้งหมด ปริมาณตะกอนหนัก น้ำมันและไขมัน และปริมาณโคลิฟอร์มแบคทีเรียทั้งหมด ปี พ.ศ. 2565 พบว่า ดัชนีทั้งหมดมีค่าอยู่ในมาตรฐานตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 125 ง วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2548 (เกณฑ์กำหนดสูงสุดตามประเภทมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารประเภท ข)

การติดตามตรวจสอบสาธารณสุข อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

การติดตามตรวจสอบสาธารณสุข อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้แก่ การตรวจสุขภาพประจำปี และการบันทึกการเจ็บป่วยและสุขภาพของผู้ที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงพื้นที่โครงการ (รง.504) โดยการตรวจสุขภาพประจำปีดำเนินการเมื่อวันที่ 7-9 มีนาคม วันที่ 21-25 มีนาคม และวันที่ 28-30 มีนาคม พ.ศ. 2565 สำหรับบันทึกการเจ็บป่วยและสุขภาพของผู้ที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงพื้นที่โครงการ มีแผนจะดำเนินการในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565

Scroll to Top