ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ครั้งที่ 1-2567
ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ครั้งที่ 1-2567
มาตรการกำหนดให้ติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย คุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป ระดับเสียง จำนวน 6 สถานี ปีละ 2 ครั้ง การติดตามคุณภาพน้ำทิ้ง ติดตามตรวจสอบทุกๆเดือนใน 6 เดือนแรกของการเปิดดำเนินการ และหลังจากนั้นติดตามตรวจสอบทุกๆ 4 เดือน การติดตามตรวจสอบสาธารณสุข อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ปีละ 1 ครั้ง โดยในช่วงมกราคม-มิถุนายน พ.ศ. 2567 ทางโครงการได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของรายงานฯ ที่ได้กำหนดไว้
การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ
ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ฝุ่นละอองรวม ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ในช่วงมกราคม-มิถุนายน พ.ศ. 2567 พบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศทั้งหมด มีค่าอยู่ในมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2538) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป มาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2547) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป และมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2552) เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยทั่วไป
การติดตามตรวจสอบระดับเสียงโดยทั่วไป
ผลการติดตามตรวจสอบระดับเสียงทั่วไป ได้แก่ ระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ระดับเสียงเปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 ระดับเสียงเฉลี่ยกลางวัน-กลางคืน ระดับเสียงสูงสุด และระดับเสียงเฉลี่ย 1 ชั่วโมง พบว่า ระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2540) เรื่อง กำหนดมาตรฐานระดับเสียงโดยทั่วไป ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2540 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 27 ง วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้ระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าได้ไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ และระดับเสียงสูงสุดมีค่าอยู่ในมาตรฐานระดับเสียงโดยทั่วไป ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2540) ที่กำหนดให้ระดับเสียงสูงสุด มีค่าได้ไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ สำหรับระดับเสียงเฉลี่ย 1 ชั่วโมง ระดับเสียงเปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 และระดับเสียงเฉลี่ยกลางวัน-กลางคืน ยังไม่มีมาตรฐานกำหนด
การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้ง
ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้ง ได้แก่ อุณหภูมิ ความเป็นกรด-ด่าง บีโอดี ซัลไฟด์ ทีเคเอ็น ปริมาณสารแขวนลอย ปริมาณของแข็งละลายทั้งหมด ปริมาณตะกอนหนัก น้ำมันและไขมัน และปริมาณโคลิฟอร์มแบคทีเรียทั้งหมด พบว่า ค่าดัชนีส่วนใหญ่มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ยกเว้น สารแขวนลอย (SS) สารที่ละลายได้ทั้งหมด (TDS) และตะกอนหนัก (Settleable Solids) ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 และสารที่ละลายได้ทั้งหมด (TDS) ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ที่มีค่าไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานกำหนด เนื่องจากบ่อพักน้ำทิ้งมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย สภาพน้ำในบ่อมีลักษณะเป็นน้ำนิ่ง ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวมีความเหมาะสมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนบางกลุ่ม และวัชพืชภายในบ่อพักน้ำทิ้ง อีกทั้งการสะสมของปริมาณอินทรีย์สารในบ่อพักน้ำทิ้งมีปริมาณมากขึ้นจึงส่งผลให้บางดัชนีมีค่าไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โครงการควรพิจารณาปรับเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบตะกอนในบ่อพักน้ำทิ้งและการทำความสะอาดบริเวณบ่อพักน้ำทิ้ง เพื่อลดการสะสมของปริมาณอินทรีย์สารในบ่อพักน้ำทิ้งก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ทั้งนี้ สำหรับปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (TCB) ยังไม่มีมาตรฐานกำหนด
การติดตามตรวจสอบสาธารณสุข อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ได้แก่ การตรวจสุขภาพประจำปี และการบันทึกการเจ็บป่วยและสุขภาพของผู้ที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงพื้นที่โครงการ (รง.504) โดยการตรวจสุขภาพประจำปี พ.ศ. 2567 ได้ดำเนินการเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ถึงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2567 และสำหรับการบันทึกการเจ็บป่วยและสุขภาพของผู้ที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงพื้นที่โครงการ (รง.504) โครงการฯ ได้ดำเนินการรวบรวมพร้อมแสดงข้อมูลในรายงานฉบับเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2566 เรียบร้อยแล้ว